Article

การทรงรับราชสมบัติและพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 
 
การทรงรับราชสมบัติและพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
 
ผู้เรียบเรียง : ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์
 
เนื้อหา
๑. ความหมาย
๒. การสืบราชสมบัติและพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
๓. ขั้นเตรียมการพระราชพิธีก่อนวันพระฤกษ์บรมราชาภิเษก
๔. การพระราชพิธีในวันพระฤกษ์บรมราชาภิเษกสมัยรัชกาลที่ ๗
๕. การเสด็จออกมหาสมาคมและการสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี
๖. การประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก
๗. การเสด็จเลียบพระนคร
๘. บรรณานุกรม
๙. ภาคผนวก
๑๐. อ้างอิง
 
ความหมาย
การพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มาจากคำว่า พระราชพิธี + บรม + ราชา + อภิเษก คำสำคัญ คือคำว่า “อภิเษก” เป็นคำสมาสแบบมีการสนธิกับอภิเษก จึงแปลว่าการรดน้ำเพื่อแต่งตั้งเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยนี้มีรูปแบบผสมผสานทั้งความเชื่อและพิธีกรรมทั้งของศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธและคติความเชื่อในประเพณีดั้งเดิมที่ประกอบขึ้นมาเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภคและเครื่องราชภัณฑ์ในการสมโภชพระมหามณเฑียรอันเป็นการสะท้อนถึงอารยธรรมและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ
 
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติยศองค์พระประมุขในพระบรมราชวโรกาสที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ เครื่องประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นประกอบด้วยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ โดยพระราชครูพราหมณ์จะเป็นผู้กล่าวถวายเครื่องสิริเบญจราชกกุธภัณฑ์เพื่อเฉลิมพระราชอิสริยยศ อันเป็นพระราชประเพณีที่สืบเนื่องมาจากศาสนาพราหมณ์
 
ต่อมา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกนั้นเป็นมหามงคลสมัยควรมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตร เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ราชสมบัติ จึงทรงจัดการพระราชกุศลและให้มีการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาก่อนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกด้วย พระราชทานชื่อว่า “พระราชพิธีฉัตรมงคล” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตราธิราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์และเปลี่ยนเรียกชื่อพระราชพิธีว่า พระราชกุศลทักษิณานุประทาน และพระราชพิธีฉัตรมงคล สืบมาจนปัจจุบัน
 
การสืบราชสมบัติและพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เนื่องจากการสืบราชสันตติวงศ์ของไทยแต่เดิมมามีความไม่แน่นอน ดังนั้นเพื่อขจัดปัญหา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงได้ทรงตรากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช ๒๔๖๗ ขึ้น เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗ กำหนดลำดับผู้สมควรได้รับราชสมบัติไว้ในหมวดที่ ๔ ข้อที่ ๘ ว่าหากพระเจ้าอยู่หัวสวรรคตลงโดยมิได้สมมตพระรัชทายาท ให้อัญเชิญเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์สายตรงก่อนซึ่งในขณะนั้นผู้ที่ทรงเป็นลำดับแรกคือสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา พระอนุชาผู้ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชนีนาถ ซึ่งยังทรงพระชนมชีพอยู่เพียงพระองค์เดียว ทั้งนี้เนื่องจากพระอนุชาพระองค์ก่อนๆ ทั้ง ๓ พระองค์ได้เสด็จทิวงคตและสิ้นพระชนม์ลงระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๓ กับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ ดังนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยฯ จึงทรงเป็นรัชทายาทโดยพฤตินัยตามนัยของกฎมณเฑียรบาลที่ตราขึ้นนั้น
 
หากแต่ว่า โดยที่พระนางสุวัทนา พระวรชายาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกำลังทรงพระครรภ์ ซึ่งหากมีพระประสูติกาลเป็นพระราชโอรส พระราชโอรสนั้นย่อมเป็นสายตรงยิ่งกว่าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัย (ด้วยกฎมณเฑียรบาลดังกล่าวไม่อนุญาตให้พระราชธิดาขึ้นครองราชสมบัติ) จึงยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยฯ จะทรงเป็นผู้ที่ขึ้นครองราชสมบัติ
 
ครั้นวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชหัตถเลขานิติกรรมเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ว่า
 
“หากมีพระราชโอรส ก็ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชาทรงเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์จนกว่าพระมหากษัตริย์จะทรงบรรลุนิติภาวะ แต่ถ้าไม่มีพระราชโอรสก็ใคร่ให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชาทรงรับรัชทายาทสืบราชสันตติวงศ์ตามราชประเพณี..”
 
ต่อมาในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยฯ ขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนสุโขทัยธรรมราชา
 
ครั้นวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ นั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุ์วงศ์วรเดชได้ทรงเป็นประธานในที่ประชุมพระบรมวงศ์และเสนาบดี เพื่อปรึกษาหารือเรื่องการสืบราชสมบัติ ที่ประชุมได้พิเคราะห์พระราชหัตถเลขานิติกรรมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์แล้ว เห็นควรอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงสุโขทัยธรรมราชาเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
 
(รายละเอียดเพิ่มเติมในไฟล์ดาวน์โหลด)