Permanent exhibition


Click text to select a museum floor

Surroundings
นิทรรศการ ชั้นที่ 1
นิทรรศการ ชั้นที่ 2
นิทรรศการ ชั้นที่ 3

เกริ่นนำ

นิทรรศการสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 จัดแสดงเรื่องราว พระราชประวัติ พระราชจริยาวัตร และพระราชกรณียกิจ โดยนำเสนอเนื้อหาตั้งแต่ทรงเสด็จพระราชสมภพ อภิเษกสมรส เสด็จประพาสทั้งในและต่างประเทศ เสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ ประเทศอังกฤษ และพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ทรงอุทิศพระวรกายมาโดยตลอดพระชนม์ชีพควบคู่ไปกับวัตถุจัดแสดงส่วนพระองค์และสิ่งของที่มีความเกี่ยวเนื่อง


เจ้าหญิงแห่งวังศุโขทัย

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัฒน์ เป็นพระธิดาพระองค์เดียวของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ (พระอนุชาในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ) กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2447


คู่บารมี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 นั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงพระอิสริยยศของหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีอย่างแท้จริง เนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ  ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระบรมเชษฐาธิราช เป็น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณสถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอัครมเหสี เฉลิมพระนามว่า “สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี”


คลื่นกระทบฝั่ง

ย่ำรุ่งวันที่ 24มิถุนายน พุทธศักราช 2475 วันแห่งการแห่งการอภิวัฒน์สยามคณะราษฎรได้กระทำการยึดอำนาจ ล้มล้างการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย

ท่ามกลางความวุ่นวายใจกลางพระนคร ณ เวลานั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯแปรพระราชฐาน ณ วังไกลกังวล และทรงทราบเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงในช่วงเช้าวันเดียวกัน

ในวันนั้น คณะราษฎรได้ส่งโทรเลขไปกราบบังคมทูลให้ทรงทราบเรื่องที่ได้ยึดอำนาจและขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ โดยเชิญให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับมาดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยนาวาตรีหลวงศุภชลาศัยได้นำเรือรบหลวงสุโขทัยมารับเสด็จกลับพระนคร


จากนิราศสู่นิรันดร์

ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงย้ายมาประทับในย่านเวอร์จิเนีย วอเตอร์ ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน แต่ด้วยทรงผูกพันกับที่ประทับหลังเดิม จึงโปรดให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเสด็จไปเก็บดอกไม้ที่พระตำหนักเวนคอร์ตในเช้าวันที่ 30 พฤษภาคม พุทธศักราช 2484 แต่ระหว่างทางก็ทรงได้รับข่าวว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงประชวรอยู่นั้น ได้เสด็จสวรรคตด้วยอาการพระหทัยวาย จึงรีบเสด็จกลับทันที หลังจากนั้น 4 วัน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงจัดพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพขึ้น ณ ฌาปนสถานโกลเดอร์สกรีนทางตอนเหนือของกรุงลอนดอนท่ามกลางพิธีที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย


พระกรุณามากพ้นรำพัน

หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จพระราชดำเนินกลับมาจากประเทศอังกฤษเมื่อพุทธศักราช 2492 แล้ว ในช่วงแรกพระองค์ประทับอยู่ที่วังสระปทุม  แต่ด้วยทรงเกรงพระหทัยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีประกอบกับต้องพระราชประสงค์ประทับอยู่อย่างเงียบๆ ท่ามกลางพระประยูรญาติ จึงทรงซื้อที่ดินบริเวณตำบลบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี เพื่อสร้างที่ประทับซึ่งพระราชทานนามว่า “สวนบ้านแก้ว”

ในชนบทห่างไกลนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงดำเนินกิจการด้านการเกษตรประเภทเลี้ยงตนเอง ปลูกพืชผัก ผลไม้ และเลี้ยงวัวและไก่ เป็นต้น นอกจากนี้พระองค์ยังได้เผยแพร่ผลการทดลอง และพระราชทานพันธุ์พืชและพันธ์สัตว์แก่ประชาชนในท้องถิ่น ทรงพัฒนาการทอเสื่อจันทบูรหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวจังหวัดจันทบุรี โดยโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งโรงงานทอเสื่อกกจันทบูร โดยนำเสื่อที่ทอมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยเป็นตัวอย่างให้แพร่หลายออกไป


เสด็จสู่สวรรคาลัย

22 พฤษภาคม 2564 วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงสถิตเป็นนิรันดร์ในใจราษฎร์

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงเป็นพระบรมราชินีพระองค์แรกในระบอบประชาธิปไตยที่กอปรด้วยพระจริยวัตรงดงามเพียบพร้อม ทรงดำรงพระชนม์ชีพอย่างเรียบง่ายด้วยพระอัธยาศัยนุ่มนวลอ่อนโยน  ในยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ต่างๆก็มีพระราชหฤทัยเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว
ทรงเป็น “คู่ทุกข์คู่ยาก” ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง  นอกจากนี้ยังทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกรทั่วไปอย่างสม่ำเสมอตลอดพระชนม์ชีพ  ความดีงามแห่งพระราชอัธยาศัยดังกล่าวนี้จึงเป็นที่ประทับใจผู้ที่เคยใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท  ตลอดจนชาวไทยทั้งปวงอย่างไม่รู้ลืมเลือน


นิทรรศการหมุนเวียน

รอข้อมูล


การสืบราชสันตติวงศ์

ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 มีพระราชหัตถเลขา “สละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์...ไม่ต้องพระราชประสงค์ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใด ให้เป็นผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์”  สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้กราบทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขณะทรงเจริญพระชนมายุ 9 พรรษา เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่  ด้วยทรงเป็นพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช 2467


พระราชประวัติก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 ดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ทรงศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนนายร้อยชั้นประถม มีพระยศนักเรียนนายร้อยพิเศษ เมื่อทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชาแล้ว ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาที่วิทยาลัยอีตัน ประเทศอังกฤษ ต่อมาทรงศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่ม้าที่โรงเรียนนายร้อยเมืองวูลิช ได้รับพระราชทานพระยศเป็นนายร้อยตรีกิตติมศักดิ์แห่งกองทัพบกอังกฤษ แล้วจึงเสด็จกลับมารับราชการในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 6 ในตำแหน่งนายพันโทราชองครักษ์ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบกชั้นประถม นายพันเอกปลัดกรมเสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 2 ตามลำดับ หลังจากทรงผนวชตามขัตติยราชประเพณีแล้ว ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอภิเษกสมรสกับ หม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัฒน์


Mock Chalerm Krung Theatre

The theater room replicates the atmosphere of the Mock Chalermkrung Theatre (Sala Chalermkrung Theatre), which His Majesty King Prajadhipok ordered built for the occasion of the 150 anniversary of the founding of Siam’s capital in 1932 and gave in name to mark the occasion. The museum’s replica theater screens rare films made by His Majesty King Prajadhipok, period films related to the reign of King Rama VII, and democracy documentary films. Films are shown between 10.30 a.m. and 2.30 p.m.


เครื่องราชภัณฑ์และพระราชนิยมส่วนพระองค์

พระราชจริยวัตรด้านภาพยนตร์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดการ ถ่ายภาพยนตร์ ทรงเริ่มถ่ายทำภาพยนตร์ขนาดเล็ก 16 ม.ม. เรียกว่า “ภาพยนตร์ทรงถ่าย” ต่อมาเมื่อเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ภาพยนตร์อัมพร” เนื้อหาในภาพยนตร์ส่วนใหญ่เป็นบันทึกพระราชพิธีสำคัญ สภาพสังคม และสภาพชีวิตชาวบ้าน ส่วนเรื่องที่มุ่งเพื่อความบันเทิง ได้แก่ เรื่องแหวนวิเศษ
 
ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ สนับสนุนให้สร้างโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยสำหรับฉายภาพยนตร์เสียงแห่งแรกของประเทศในวโรกาสเฉลิมฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี พระราชทานนามว่า “ศาลาเฉลิมกรุง”


พระราชประวัติหลังสละราชสมบัติ

แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมีพระราชประสงค์เช่นเดียวกับ จุดมุ่งหมายของคณะราษฎรที่จะให้ประเทศสยามมีการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่พระองค์ไม่เห็นชอบด้วยกับหลักการและการกระทำบางประการของคณะราษฎร ในที่สุดวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติขณะ ประทับ ณ พระตำหนักโนล เมืองแครนลี มณฑลเซอร์เรย์ ประเทศอังกฤษ หลังจากทรงสละราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ยังคงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ทรงวางพระองค์อย่างเรียบง่าย ทรงปลูกดอกไม้ด้วยพระองค์เอง ทรงกีฬากอล์ฟและเทนนิสร่วมกับพระญาติพระสหาย ข้าราชบริพารและนักเรียนไทย นอกจากมีพระโรคทางพระเนตรแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงประชวรด้วยโรคพระหทัยด้วยโดยพระอาการได้กำเริบหนักขึ้นเป็นลำดับจนกระทั่งเสด็จสวรรคตอย่างสงบเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างเรียบง่าย ณ ฌาปนสถานโกลเดอร์สกรีน (Golders Green) ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน


พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ใน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปฐมบรม ราชโองการความว่า “…ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เป็นที่พึ่งจัดการปกครองรักษาป้องกันอันเป็นธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย...” เทอญทรงรับการน้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องราชเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชาภรณ์และเครื่องประดับพระอิสริยยศในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก


พระราชกรณียกิจ

ในช่วงระยะเวลา 9 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกรณียกิจสำคัญด้านต่างๆ อาทิ การแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยที่สมบูรณ์ การประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก การพระราชทานปริญญาบัตรสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาเป็นครั้งแรก พระราชกรณียกิจด้านการสื่อสาร การเสด็จประพาสในประเทศและต่างประเทศ การทบทวนและจัดทำสนธิสัญญาไมตรี การสร้างระบบราชการให้เป็นคุณธรรม ฯลฯ


งานฉลองพระนครครบ 150 ปี 2475

นับแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์และก่อสร้างกรุงเทพมหา นครเป็นราชธานีเป็นต้นมา จวบจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นระยะเวลา 150 ปีพอดี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีฉลองพระนคร โดยมีกำหนดงานแบ่งเป็น 3 ภาคดังนี้
 
ภาคที่ 1 งานฉลองพระนคร ได้แก่
  • พระราชพิธีฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  • พระราชพิธีเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์
ภาคที่ 2 งานเฉลิมสิริราชสมบัติ
ภาคที่ 3 งานพระราชกุศลทักษิณานุปทาน


การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

เช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 “คณะราษฎร” ได้ทำการยึดอำนาจด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จพระราชดำเนินกลับเข้ากรุงเทพฯ พระราชทานความร่วมมือแก่คณะราษฎรเพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้เข้าสู่ความสงบเรียบร้อย และหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่การสูญเสียในบ้านเมือง วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 พร้อมด้วยการร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เพื่อลงพระปรมาภิไธย โดยทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ลงไป รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยจึงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475”


การพระราชทานรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475

วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบัลลังค์ภายใต้นพปฎลมหา เศวตฉัตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรสยามแก่ปวงชนชาวไทย