นิทรรศการถาวร


คลิกที่ข้อความเพื่อเลือกชั้นพิพิธภัณฑ์

Surroundings
นิทรรศการ ชั้นที่ 1
นิทรรศการ ชั้นที่ 2
นิทรรศการ ชั้นที่ 3

เกริ่นนำ

นิทรรศการสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 จัดแสดงเรื่องราว พระราชประวัติ พระราชจริยาวัตร และพระราชกรณียกิจ โดยนำเสนอเนื้อหาตั้งแต่ทรงเสด็จพระราชสมภพ อภิเษกสมรส เสด็จประพาสทั้งในและต่างประเทศ เสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ ประเทศอังกฤษ และพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่ทรงอุทิศพระวรกายมาโดยตลอดพระชนม์ชีพควบคู่ไปกับวัตถุจัดแสดงส่วนพระองค์และสิ่งของที่มีความเกี่ยวเนื่อง


เจ้าหญิงแห่งวังศุโขทัย

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัฒน์ เป็นพระธิดาพระองค์เดียวของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ (พระอนุชาในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ) กับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี พระราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2447


คู่บารมี

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ในวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 นั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงพระอิสริยยศของหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีอย่างแท้จริง เนื่องด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ฯ  ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระบรมเชษฐาธิราช เป็น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณีทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณสถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระอัครมเหสี เฉลิมพระนามว่า “สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี”


คลื่นกระทบฝั่ง

ย่ำรุ่งวันที่ 24มิถุนายน พุทธศักราช 2475 วันแห่งการแห่งการอภิวัฒน์สยามคณะราษฎรได้กระทำการยึดอำนาจ ล้มล้างการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย

ท่ามกลางความวุ่นวายใจกลางพระนคร ณ เวลานั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯแปรพระราชฐาน ณ วังไกลกังวล และทรงทราบเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงในช่วงเช้าวันเดียวกัน

ในวันนั้น คณะราษฎรได้ส่งโทรเลขไปกราบบังคมทูลให้ทรงทราบเรื่องที่ได้ยึดอำนาจและขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ โดยเชิญให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับมาดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยนาวาตรีหลวงศุภชลาศัยได้นำเรือรบหลวงสุโขทัยมารับเสด็จกลับพระนคร


จากนิราศสู่นิรันดร์

ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงย้ายมาประทับในย่านเวอร์จิเนีย วอเตอร์ ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน แต่ด้วยทรงผูกพันกับที่ประทับหลังเดิม จึงโปรดให้สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีเสด็จไปเก็บดอกไม้ที่พระตำหนักเวนคอร์ตในเช้าวันที่ 30 พฤษภาคม พุทธศักราช 2484 แต่ระหว่างทางก็ทรงได้รับข่าวว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงประชวรอยู่นั้น ได้เสด็จสวรรคตด้วยอาการพระหทัยวาย จึงรีบเสด็จกลับทันที หลังจากนั้น 4 วัน สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงจัดพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพขึ้น ณ ฌาปนสถานโกลเดอร์สกรีนทางตอนเหนือของกรุงลอนดอนท่ามกลางพิธีที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย


พระกรุณามากพ้นรำพัน

หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จพระราชดำเนินกลับมาจากประเทศอังกฤษเมื่อพุทธศักราช 2492 แล้ว ในช่วงแรกพระองค์ประทับอยู่ที่วังสระปทุม  แต่ด้วยทรงเกรงพระหทัยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีประกอบกับต้องพระราชประสงค์ประทับอยู่อย่างเงียบๆ ท่ามกลางพระประยูรญาติ จึงทรงซื้อที่ดินบริเวณตำบลบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี เพื่อสร้างที่ประทับซึ่งพระราชทานนามว่า “สวนบ้านแก้ว”

ในชนบทห่างไกลนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงดำเนินกิจการด้านการเกษตรประเภทเลี้ยงตนเอง ปลูกพืชผัก ผลไม้ และเลี้ยงวัวและไก่ เป็นต้น นอกจากนี้พระองค์ยังได้เผยแพร่ผลการทดลอง และพระราชทานพันธุ์พืชและพันธ์สัตว์แก่ประชาชนในท้องถิ่น ทรงพัฒนาการทอเสื่อจันทบูรหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวจังหวัดจันทบุรี โดยโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งโรงงานทอเสื่อกกจันทบูร โดยนำเสื่อที่ทอมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยเป็นตัวอย่างให้แพร่หลายออกไป


เสด็จสู่สวรรคาลัย

22 พฤษภาคม 2564 วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงสถิตเป็นนิรันดร์ในใจราษฎร์

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงเป็นพระบรมราชินีพระองค์แรกในระบอบประชาธิปไตยที่กอปรด้วยพระจริยวัตรงดงามเพียบพร้อม ทรงดำรงพระชนม์ชีพอย่างเรียบง่ายด้วยพระอัธยาศัยนุ่มนวลอ่อนโยน  ในยามที่ต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ต่างๆก็มีพระราชหฤทัยเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว
ทรงเป็น “คู่ทุกข์คู่ยาก” ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างแท้จริง  นอกจากนี้ยังทรงเปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณแก่พสกนิกรทั่วไปอย่างสม่ำเสมอตลอดพระชนม์ชีพ  ความดีงามแห่งพระราชอัธยาศัยดังกล่าวนี้จึงเป็นที่ประทับใจผู้ที่เคยใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท  ตลอดจนชาวไทยทั้งปวงอย่างไม่รู้ลืมเลือน


นิทรรศการหมุนเวียน

รอข้อมูล


การสืบราชสันตติวงศ์

ภายหลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 มีพระราชหัตถเลขา “สละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์...ไม่ต้องพระราชประสงค์ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใด ให้เป็นผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์”  สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้กราบทูลเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขณะทรงเจริญพระชนมายุ 9 พรรษา เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่  ด้วยทรงเป็นพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์แห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พุทธศักราช 2467


พระราชประวัติก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2436 ดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ทรงศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนนายร้อยชั้นประถม มีพระยศนักเรียนนายร้อยพิเศษ เมื่อทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชาแล้ว ได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาที่วิทยาลัยอีตัน ประเทศอังกฤษ ต่อมาทรงศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่ม้าที่โรงเรียนนายร้อยเมืองวูลิช ได้รับพระราชทานพระยศเป็นนายร้อยตรีกิตติมศักดิ์แห่งกองทัพบกอังกฤษ แล้วจึงเสด็จกลับมารับราชการในประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 6 ในตำแหน่งนายพันโทราชองครักษ์ ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทหารบกชั้นประถม นายพันเอกปลัดกรมเสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ 2 ตามลำดับ หลังจากทรงผนวชตามขัตติยราชประเพณีแล้ว ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอภิเษกสมรสกับ หม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัฒน์


ศาลาเฉลิมกรุง

ห้องฉายภาพยนตร์ จำลองบรรยากาศจากโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างขึ้นเนื่องในโอกาสสมโภชพระนครครบ 150 ปี พ.ศ. 2475 และพระราชทานชื่อโรงภาพยนตร์ จัดฉายภาพยนตร์ทรงถ่าย ภาพยนตร์เก่าร่วมสมัย ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และหาชมได้ยาก โดยจัดฉายในรอบเวลา 10.60 น. และ 14.30 น.


เครื่องราชภัณฑ์และพระราชนิยมส่วนพระองค์

พระราชจริยวัตรด้านภาพยนตร์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดการ ถ่ายภาพยนตร์ ทรงเริ่มถ่ายทำภาพยนตร์ขนาดเล็ก 16 ม.ม. เรียกว่า “ภาพยนตร์ทรงถ่าย” ต่อมาเมื่อเสด็จประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ภาพยนตร์อัมพร” เนื้อหาในภาพยนตร์ส่วนใหญ่เป็นบันทึกพระราชพิธีสำคัญ สภาพสังคม และสภาพชีวิตชาวบ้าน ส่วนเรื่องที่มุ่งเพื่อความบันเทิง ได้แก่ เรื่องแหวนวิเศษ
 
ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ สนับสนุนให้สร้างโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยสำหรับฉายภาพยนตร์เสียงแห่งแรกของประเทศในวโรกาสเฉลิมฉลองพระนครครบรอบ 150 ปี พระราชทานนามว่า “ศาลาเฉลิมกรุง”


พระราชประวัติหลังสละราชสมบัติ

แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมีพระราชประสงค์เช่นเดียวกับ จุดมุ่งหมายของคณะราษฎรที่จะให้ประเทศสยามมีการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่พระองค์ไม่เห็นชอบด้วยกับหลักการและการกระทำบางประการของคณะราษฎร ในที่สุดวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติขณะ ประทับ ณ พระตำหนักโนล เมืองแครนลี มณฑลเซอร์เรย์ ประเทศอังกฤษ หลังจากทรงสละราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ยังคงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ทรงวางพระองค์อย่างเรียบง่าย ทรงปลูกดอกไม้ด้วยพระองค์เอง ทรงกีฬากอล์ฟและเทนนิสร่วมกับพระญาติพระสหาย ข้าราชบริพารและนักเรียนไทย นอกจากมีพระโรคทางพระเนตรแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงประชวรด้วยโรคพระหทัยด้วยโดยพระอาการได้กำเริบหนักขึ้นเป็นลำดับจนกระทั่งเสด็จสวรรคตอย่างสงบเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ขณะมีพระชนมายุ 48 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างเรียบง่าย ณ ฌาปนสถานโกลเดอร์สกรีน (Golders Green) ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน


พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ใน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระปฐมบรม ราชโองการความว่า “…ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลายกับโภคสมบัติ เป็นที่พึ่งจัดการปกครองรักษาป้องกันอันเป็นธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบาย...” เทอญทรงรับการน้อมเกล้าฯ ถวายเครื่องราชเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องบรมราชาภรณ์และเครื่องประดับพระอิสริยยศในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก


พระราชกรณียกิจ

ในช่วงระยะเวลา 9 ปีแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกรณียกิจสำคัญด้านต่างๆ อาทิ การแก้ไขภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับพิมพ์อักษรไทยที่สมบูรณ์ การประกวดแต่งหนังสือสอนพระพุทธศาสนาสำหรับเด็ก การพระราชทานปริญญาบัตรสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาเป็นครั้งแรก พระราชกรณียกิจด้านการสื่อสาร การเสด็จประพาสในประเทศและต่างประเทศ การทบทวนและจัดทำสนธิสัญญาไมตรี การสร้างระบบราชการให้เป็นคุณธรรม ฯลฯ


งานฉลองพระนครครบ 150 ปี 2475

นับแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์และก่อสร้างกรุงเทพมหา นครเป็นราชธานีเป็นต้นมา จวบจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นระยะเวลา 150 ปีพอดี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบการพระราชพิธีฉลองพระนคร โดยมีกำหนดงานแบ่งเป็น 3 ภาคดังนี้
 
ภาคที่ 1 งานฉลองพระนคร ได้แก่
  • พระราชพิธีฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  • พระราชพิธีเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์
ภาคที่ 2 งานเฉลิมสิริราชสมบัติ
ภาคที่ 3 งานพระราชกุศลทักษิณานุปทาน


การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

เช้าตรู่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 “คณะราษฎร” ได้ทำการยึดอำนาจด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จพระราชดำเนินกลับเข้ากรุงเทพฯ พระราชทานความร่วมมือแก่คณะราษฎรเพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้เข้าสู่ความสงบเรียบร้อย และหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่การสูญเสียในบ้านเมือง วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 พร้อมด้วยการร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน เพื่อลงพระปรมาภิไธย โดยทรงเติมคำว่า “ชั่วคราว” ลงไป รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยจึงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475”


การพระราชทานรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475

วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์บนพระราชบัลลังค์ภายใต้นพปฎลมหา เศวตฉัตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกแห่งราชอาณาจักรสยามแก่ปวงชนชาวไทย