ประวัติอาคารอนุรักษ์
แต่เดิมคือที่ทำการของห้างยอน แซมป์สัน แอนด์ ซัน (John Sampson & Son Limited) ซึ่งเป็นสาขาของห้าง Messrs. Sam & Sampson & Son จำหน่ายผ้าและรับตัดเสื้อผ้า รองเท้า รวมทั้งอานม้าที่มีซื่อเสียงย่านบอนด์สตรีท (Bond Street) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงชักชวนให้มาเปิดสาขาในกรุงเทพฯ เมื่อคราวเสด็จฯ ประพาสยุโรป พ.ศ. 2440 ในระยะแรกเริ่มคือ พ.ศ. 2441 ทางห้างได้เช่าห้องแถว ณ ถนนพระสุเมรุ เพื่อประกอบกิจการ ต่อมาใน พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระคลังข้างที่ลงทุนก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่บนพื้นที่ 1,008 ตารางวา เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ระหว่างถนนหลานหลวงกับถนนดำรงรักษ์ ค่าที่ดินและค่าก่อสร้างเป็นเงินรวม 258,550 บาท เพื่อให้ห้างนี้เช่าเป็นสำนักงานใหญ่โดยเฉพาะ
สำหรับแบบแปลนอาคารนั้น นายเฟรดเดอริก แซมป์สัน (Mr. Frederick Sampson) เจ้าของห้างฯ เป็นผู้เลือก ที่พิเศษไปกว่านั้นคือ เป็นห้างเดียวที่ตั้งบนถนนราชดำเนินนอกซึ่งเป็นถนนสายหลักของกรุงเทพฯ อันเป็นถนนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้เป็นที่ตั้งวังเจ้านายและสถานที่ราชการ โดยเฉพาะอาคารแห่งนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2455 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นายเฟรดเดอริก แซมป์สัน ได้ลงนามในสัญญาเช่ากับกรมพระคลังข้างที่ ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2455 กำหนดระยะเวลาเช่า 15 ปี อย่างไรก็ตามในวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2469 เป็นเวลาก่อนหมดสัญญาเช่าเพียง 10 เดือน ทางห้างฯ ก็ได้ขอเลิกสัญญาเช่ากับกรมพระคลังข้างที่ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2469 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมพระคลังข้างที่ได้ให้หลวงไมตรีวานิช (เฉลิม ยอดมณี) เช่าอาคารหลังนี้เป็นที่ทำการของห้าง สุธาดิลก จำหน่ายวัสดุก่อสร้างและเครื่องสุขภัณฑ์สมัยใหม่ รวมทั้งตะเกียงเจ้าพายุ เครื่องแก้ว และรถสามล้อ สัญญาเช่าได้หมดลงในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2475 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 กรมโยธาธิการ กระทรวงมหาดไทย ได้ขอเช่าเป็นที่ทำการของกรม ได้มีการลงนามในสัญญาเช่าระหว่างกรมพระคลังข้างที่กับกรมโยธาธิการในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2478 อาคารแห่งนี้ได้ใช้เป็นสถานที่ทำงานของกรมโยธาธิการ จนถึง พ.ศ. 2538
กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียน และกำหนดเขตที่ดินและอาคารเป็นพื้นที่โบราณสถาน กรมโยธาธิการได้เช่าอาคารแห่งนี้จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จนถึง พ.ศ. 2544 จึงได้มอบสิทธิการเช่าให้แก่สถาบันพระปกเกล้า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2544 เพื่อใช้เป็นที่ตั้งพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สถาบันฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงตกแต่งอาคารแล้วเสร็จในปลายเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2545
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2545