ข่าวประชาสัมพันธ์

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดโครงการสัมมนาวิชาการพระปกเกล้าศึกษาในประเด็น เรื่อง “สถาปัตยกรรมสยามใต้ร่มฉัตรรัชกาลที่ 7”


พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดโครงการสัมมนาวิชาการพระปกเกล้าศึกษาในประเด็น เรื่อง “สถาปัตยกรรมสยามใต้ร่มฉัตรรัชกาลที่ 7” โดย ผศ. ดร. พีรศรี โพวาทอง นักวิชาการผู้วิจัยเรื่องดังกล่าวให้กับทางพิพิธภัณฑ์ฯ รวมทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ดำเนินรายการโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เวลา 13.00-16.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุมชั้น 6 อาคารรำไพพรรณี พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

วิทยากรกล่าวถึงข้อสรุปของการศึกษาวิจัยในเรื่องสถาปัตยกรรมช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า สยามก้าวเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ มีชีวิตเมือง วัฒนธรรมเมือง สังคมเมืองสมัยใหม่ ควบคู่ไปกับอัตราการเพิ่มของประชากรที่ทวีสูงขึ้น แม้ในทางการเมืองการปกครองรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์กำลังจะยุติบทบาทลง ทว่าสถาปัตยกรรมสมัยใหม่กลับทวีบทบาทมากขึ้นในชีวิตเมืองสมัยใหม่ ทั้งอาคารสาธารณะ อาคารราชการ อาคารพาณิชย์ วัง บ้านพักอาศัยผู้มีฐานะ มีจำนวนมากที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่สมัยใหม่ที่สะดวกสบาย ถึงพร้อมด้วยสาธารณูปโภคสมัยใหม่ ก่อสร้างอย่างแข็งแรงมั่นคงด้วยเทคโนโลยี วัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ อาจสรุปได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองมิได้มีผลต่อพัฒนาการสถาปัตยกรรมไทยในช่วงเวลาดังกล่าวมากนัก ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ดูจะมีผลต่อพัฒนาการในงานสถาปัตยกรรมมากกว่า พบว่าในสมัยรัชกาลที่ 7 มีนโยบายใหม่ๆ เช่น การตั้งสภาจัดบำรุงสถานที่ ชายทะเลทิศตะวันตก (พ.ศ. 2469) การตั้งคณะกรรมการวางแผนผังพระนคร (Town-planning Committee) (พ.ศ. 2470) การยกร่างพระราชบัญญัติเทศบาล (พ.ศ. 2473) การออกพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างในเขตต์เพลิงไหม้ที่บริเวณระวางถนนเจริญกรุง เยาวราช และปทุมคงคา กับที่ตำบลถนนเยาวราช ตอนคลองศาลเจ้าใหม่ถม จังหวัดพระนคร (พ.ศ. 2475) เป็นต้น นโยบายและกลไกทางกฎหมายหลายประการยังคงส่งผลกระทบสืบเนื่องอย่างลึกซึ้งและยาวนานมาจนปัจจุบัน

ภาพประกอบ