วันนี้ พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะพาเดินทางย้อนกลับไปสู่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทำพิธีสถาปนาหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี ขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี นับเป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีการสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินีในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเป็นพระราชพิธีที่เพิ่มขึ้นใหม่ที่ปรับรูปแบบให้เหมาะกับยุคสมัยมากขึ้น
พิพิธภัณฑ์ฯ ชวนชม ภาพพิมพ์หิน พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีข้อความบรรยายใต้ภาพด้านล่างเป็นภาษาอิตาลี ถอดความได้ ว่า
พิธีราชาภิเษกของพระเจ้าแผ่นดินสยาม หลังได้รับการเจิมจากพระสงฆ์และพราหมณ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีแบบเดียวกันนี้แก่พระราชินีที่กำลังคุกเข่า จากบนบัลลังก์แปดเหลี่ยม พิธีเจิมโดยใช้น้ำจากแม่น้ำสายหลักห้าสายของราชอาณาจักรและแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์หลายแห่ง ภาพประกอบสำหรับ La Domenica Del Corriere, 18 เมษายน พ.ศ. 2469
ภาพพิมพ์หินเป็นผลงานของ อคีล เบลตราเม่ (Achille Beltrame) นักวาดภาพประกอบชาวอิตาลี ของ La Domenica del Corriere หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ยอดนิยมของอิตาลีซึ่งตีพิมพ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2442 ถึง พ.ศ. 2532 เผยแพร่ทุกวันอาทิตย์ และมีจุดเด่นเรื่องภาพวาดหน้าปก ที่รวบรวมเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ทั่วโลก
รูปที่เห็นนี้มาจากหนังสือพิมพ์ฉบับเดือนเมษายน พ.ศ. 2469 แม้ว่าจะเป็นเวลาเกือบสองเดือนหลังจากพระราชพิธี แต่ก็แสดงถึงความสำคัญของเหตุการณ์ และความรับรู้ของชาวโลกต่อสยาม เพราะในก่อนยุคโลกดิจิตอล การเผยแพร่ข่าวสารยังอาศัยสื่อสิ่งพิมพ์เป็นหลัก ไม่ได้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่รวดเร็วเหมือนในปัจจุบัน
เมื่อเปรียบเทียบกับภาพถ่ายต้นฉบับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พบความแตกต่างระหว่างภาพพิมพ์หินกับภาพต้นฉบับ คือ การหลั่งน้ำมหาสังข์ ขณะที่ภาพพิมพ์ของศิลปินอิตาลี วัตถุที่อยู่ในมือพระปกเกล้าฯ เป็นวัตถุคล้ายช้อน เพราะในพิธีราชาภิเษกแบบตะวันตกจะมีการเจิมศีรษะด้วยน้ำมัน และใช้ช้อนในการเจิม ในภาพยังมีพนักงานถือหม้อน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ (Chrism oil) และภาพสตรีอีกคนด้านขวาของภาพ เพราะว่าศิลปินวาดภาพนี้จากภาพถ่ายอีกต่อหนึ่งนั้นเอง
ภาพพิมพ์หิน (Lithograph) ถูกคิดค้นขึ้นปี พ.ศ. 2339 ในประเทศเยอรมัน ในอดีตใช้แผ่นหินปูนเป็นแม่พิมพ์ เป็นกระบวนการพิมพ์ที่ใช้ไขมันและน้ำที่ไม่ผสมกันเพื่อสร้างงานพิมพ์คุณภาพสูง สามารถใช้พิมพ์ข้อความหรือภาพลงบนกระดาษหรือวัสดุอื่นๆ ได้ ภาพพิมพ์หินสามารถถ่ายทอดลวดลายที่ศิลปินวาดได้ตรงตามความต้องการมากที่สุด และสามารถผลิตได้ปริมาณมากเหมาะกับงานหนังสือพิมพ์ในอดีต
ท่านที่สนใจชมภาพและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้จาก อัลบั้มภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2468 https://kpm20th-anniversary.com/อลบมภาพพระราชพธบรมราชา/
ภาพพิมพ์หินพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพพรรณี พระบรมราชินี เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีข้อความบรรยายใต้ภาพด้านล่างเป็นภาษาอิตาลี
ต้นฉบับภาพถ่ายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพพรรณี พระบรมราชินี เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก