บทความ

รำไพพรรณีรำลึก: กุลสตรีศรีสยาม สง่างามทุกกาลสถาน


 
 
 
รำไพพรรณีรำลึก : กุลสตรีศรีสยาม สง่างามทุกกาลสถาน
โดย รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 พระราชสมภพเมื่อวันอังคารที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2447 (ค.ศ.1904) เป็นหม่อมเจ้าหญิง พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ องค์ต้นราชสกุล “สวัสดิวัตน์” แด่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี
 
ยุวราชนารี
เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงอยู่ในพระราชอุปการะของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 จึงทรงเรียนรู้การปฏิบัติพระองค์ตามกาละและเทศะ เรียบร้อยรับผิดชอบเมื่อโดยเสด็จพระราชดำเนิน “สมเด็จป้า” ไปในงานพระราชพิธี แต่ในเวลาอื่นก็ทรงมีโอกาสวิ่งเล่นตามประสาเด็ก ส่งผลให้โปรดทรงกีฬา ซึ่งเมื่อประกอบกับพระอัธยาศรัยนุ่มนวล จึงทรงเป็นที่ต้องพระราชหฤทัยในสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา ผู้เพิ่งเสด็จฯ กลับมาจากการทรงศึกษาต่อในประเทศอังกฤษ
 
“14 ปี ต้องเป็นผู้ใหญ่เลย”
วันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2461 (ค.ศ.1917) เมื่อพระชันษา 14 ปี ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้น และใน 3 ปีต่อมา ได้โดยเสด็จฯ ไปประทับ ณ ประเทศฝรั่งเศส ที่ซึ่งพระสวามีทรงเข้ารับการรักษาพระโรค แล้วทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนเสนาธิการทหารของประเทศนั้น ระหว่างนั้น พระชายาทรงฝึกฝนการใช้ภาษาฝรั่งเศสกับครูเฉพาะพระองค์จนรับสั่งได้ดี เป็นประโยชน์ในการทรงเจริญสัมพันธ์ไมตรีในต่างแดนต่างประเทศในเวลาต่อมา
 
ทั้งสองพระองค์เสด็จฯ จากยุโรปกลับสู่สยามผ่านทางสหรัฐอเมริกา นับเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างสยามกับประเทศ “โลกใหม่” ที่กำลังมีความสำคัญมากขึ้นในเวทีโลก
 
เสด็จฯ กลับถึงบ้านเกิดเมืองนอนได้เพียงหนึ่งปี สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนฯ ต้องเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ ในคืนนั้นพระชายารับสั่งกับพระญาติผู้พี่ว่า “ไอ้การมีบุญนี้ ไม่สนุกเลย” แสดงว่าแม้เมื่อพระชันษา 20 ปี ทรงเข้าถึงความเป็นธรรมดาของชีวิตว่ามีทั้งทุกข์และสุขระคนกัน
 
สมเด็จพระบรมราชินี ทรงสถาปนา
วันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2468 (ค.ศ. 1926) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระวรชายา คู่ทุกข์คู่สุขของพระองค์เพียงพระองค์เดียว คนเดียวเป็นสมเด็จพระบรมราชินี พระอัครมเหสี ในช่วงบ่ายของวันบรมราชาภิเษกของพระองค์  นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติ และได้เป็นแบบอย่างสืบมา
 
แต่นั้นมา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงได้ประทับและเสด็จพระราชดำเนินเคียงพระองค์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทั้งในพระราชอาณาจักร และในดินแดนต่างประเทศใกล้ไกล ในถึง 4 ทวีปในโลก คือ เอเซีย อเมริกาเหนือ อาฟริกา และยุโรป นับว่าเป็นประวัติกาลที่เอกสตรีของสยามได้ร่วมเจริญพระราชไมตรีในสากลโลก ฉายความนุ่มนวลของสตรีชาวเอเซียผู้มีความเป็นสมัยใหม่ทั้งในการแต่งพระองค์และพระราชอิริยาบทสนทนากับบุคคลสำคัญต่างๆ ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
 
ในการโดยเสด็จพระราชดำเนินในต่างประเทศ มีบางโอกาสที่สมเด็จฯ ได้ทรงแสดงพระทักษะสามารถและความสนพระราชหฤทัยของพระองค์เอง เช่น ในการทรงกีฬา คือ แข่งขันกอล์ฟกับเซอร์ฮิว คลิฟฟอร์ด ผู้สำเร็จราชการของอังกฤษที่สิงคโปร์ และแข่งขันเทนนิสกับนายบันนี ออสติน แชมเปี้ยนสมัครเล่นชาวอังกฤษ ที่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส  ในการเสด็จฯ เข้าไปเฝ้า “พระแม่เจ้า” ในราชสำนักฝ่ายในของเวียดนาม ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ เข้าไปเฝ้า  ในการเสด็จฯ ออกแทนพระองค์พระราชสวามีผู้ทรงพระประชวรอยู่ เมื่อเรือเดินสมุทรเทียบท่าที่ประเทศแคนาดา ให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของประเทศนั้นเฝ้าฯ รับเสด็จฯ และในการทรงม้าทางไกลที่หุบเขาอุทยานแห่งชาติแบนฟ์ของประเทศนั้น จนทรงได้รับรางวัล ในการทรงมีพระเมตตาคุณด้วยการบริจาคพระราชทรัพย์สนับสนุนสถานรับเลี้ยงเด็กกำพร้าที่ประเทศอิตาลี และความสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษในทักษะฝีมือการเย็บปักถักร้อยที่ประเทศฮังการี เป็นต้น  ทั้งยังได้ทรงร่วมกับพระราชสวามีอย่างสนพระราชหฤทัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเกษตรในหลายประเทศ
 
สัญญานแห่งการส่งเสริมสถานภาพสตรี
การทรงสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี นับว่าเป็นสัญญานแห่งประบรมราโชบายที่จะทรงส่งเสริมสถานภาพสตรีสู่ความเท่าเทียมกับบุรุษ เพราะในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนารีผู้มีศักดิ์เป็นนางสนองพระโอฐ และนางพระกำนัลโดยเสด็จฯ สมเด็จพระบรมราชินี เฉกเช่นที่เป็นธรรมเนียมของชาติตะวันตก 
 
ในด้านการศึกษา เมื่อได้พัฒนามหาวิทยาลัยแห่งเดียวในขณะนั้นให้ถึงระดับประสาทปริญญาได้ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สตรีและบุรุษได้เข้าศึกษาพร้อมกัน  ยังผลให้มีบัณฑิตสตรีเข้าสู่วงการวิชาชีพ เป็น แพทย์ พยาบาล ครูอาจารย์ ตลอดจนนักเขียนและบรรณาธิการในเวลาต่อมา
 
ในด้านสังคม แม้ว่าคณะเสนาบดีจะได้มีมติเสียงข้างมากยังคงไม่ห้ามมิให้บุรุษมีภรรยาหลายคนก็ตาม หากแต่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้ทรงดำรงพระองค์เป็นแบบอย่างของการมีคู่แต่พระองค์คนเดียวมาโดยตลอด
 
ในด้านการเมืองการปกครอง ธรรมนูญการปกครองที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ร่างในรัชกาลแต่สมัยทรงพระราชอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ ก็ได้กำหนดให้ทั้งสตรีและบุรุษผู้บรรลุนิติภาวะแล้วได้มีสิทธิเลือกตั้งในระดับเทศบาล และภายหลังการเปลี่ยนแปลงปกครอง พ.ศ. 2475  รัฐธรรมนูญก็ได้ให้สิทธิเลือกตั้งเท่าเทียมกันเช่นกัน
 
รำไพพรรณี ผู้ทรงเป็นแบบอย่างของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
หากใส่ใจศึกษาพระราชประวัติ ย่อมเห็นได้ว่าองค์รำไพพรรณีทรงเรียนรู้ตลอดพระชนมชีพ และทรงสามารถปรับพระองค์ได้อย่างเหมาะสมแก่สถานการณ์ความผันผวนในพระราชสถานะหลายครั้งครา นับตั้งแต่การที่ในพระราชสถานะพระชายาในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ โดยเสด็จฯ ไปประทับในทุรสถานต่างแดน และทรงฝึกทักษะภาษาฝรั่งเศส การทรงซึมซับความรู้ด้วยการสังเกตเกี่ยวกับกิจการการเกษตรและสวัสดิการแก่ผู้ใช้แรงงานและผู้เยาว์ ในระหว่างที่ทรงโดยเสด็จฯ ในต่างประเทศ จนทรงนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศในช่วงหลังของพระชนมชีพ เมื่อประทับทรงทำสวนทำไร่อยู่ในชนบทจันทบุรี   ณ ที่นั้นยังได้ทรงเรียนรู้การทอเสื่อกกจากชาวบ้านแถบนั้น จนทรงต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์สมัยใหม่จากผืนเสื่อได้ นอกจากนั้น พระประสบการณ์ของการดำรงพระองค์ในภาวะที่ขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคและภยันตรายจากลูกระเบิดยามสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศอังกฤษ ก็เป็นบทเรียนให้พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการพึ่งตนเอง และการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ทั้งยังทรงพระกรุณาสอนทักษะชีวิต แก่ “หลานอา” ของพระองค์ เกี่ยวกับการใช้ชีวิตนอกวัง ให้รู้จักอดทนและปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเฉกเช่นพระองค์ จึงนับได้ว่าทรงเป็นแบบอย่างของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
 
สมเด็จฯ ชาวสวน
“ฉันไม่มีความประสงค์ที่จะมีชีวิตเข้าพัวพันกับกิจการบ้านเมืองของไทยอีกเลย แต่มีความประสงค์ที่จะมีความเป็นอยู่แบบหญิงไทยสามัญธรรมดา ด้วยการใช้ชีวิตอย่างเงียบๆ อยู่กับญาติของฉัน”
 
สมเด็จฯ รับสั่งเช่นนี้เมื่อเสด็จฯ กลับมาสู่ประเทศ “บ้านเกิดเมืองนอน” ใน พ.ศ.2492 ขณะพระชนมพรรษา 45 พรรษา  
 
ในปีต่อมา ได้เสด็จฯ ไปทรงเลือกและซื้อที่ดินที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ในชนบทจังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีคลองบ้านแก้วไหลผ่าน พื้นที่ลาด เพื่อเป็นที่ประทับทรงทำสวนทำไร่ โดยไม่ได้ทำแข่งกับชาวบ้านแต่เพื่อเป็นสวนทดลอง สิ่งใดได้ผลดีจะได้ส่งทอดความรู้แก่ชาวบ้าน ทำการชลประทานนำน้ำจากคลองตามพื้นที่ลาดมาลงบ่อลงสระเก็บไว้ใช้ทั้งในการทำสวนและอุปโภคบริโภค เลี้ยงโคไว้ปราบหญ้า ใช้มูลวัวเป็นปุ๋ยธรรมชาติ และลากเกวียน แม้ว่าจะมีรถแทรกเตอร์ใช้งานอยู่ 2 คัน ปลูกมันสำปะหลังกันดินไหล ปลูกพืชตระกูลถั่วบำรุงดินแล้วปลูกไม้ผล เช่น ส้มเขียวหวาน แตงโมและแตงแคนตาลูป ไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม ผัก และดอกไม้พื้นเมืองนานาชนิด เพื่อความร่มรื่นและสวยงาม อีกทั้งปลูกข้าวไร่ซึ่งใช้น้ำน้อย  ทั้งยังเลี้ยงเป็ด ซึ่งปล่อยให้หากินตามธรรมชาติ และไก่พันธุ์ที่ออกไข่ดก ไว้ให้ชาวบ้านที่ทรงรับเข้ามาเป็นคนงานมีอาหารพระราชทาน 3 มื้อต่อวัน ทั้งหมดนี้เพื่อที่จะได้เลี้ยงตนเองได้ใน “สวนบ้านแก้ว” เป็นสำคัญ และอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพอสมควร  ทั้งนี้เป็นเวลาหลายสิบปีก่อนที่จะมีแนวคิด “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่องค์การระหว่างประเทศผลักดันอยู่ในปัจจุบัน
 
โดยที่การทำสวนเป็นพระราชนิยมที่ทรงมีมาก่อนหน้า สมเด็จฯ จึงทรงลงหัตถ์ร่วมในกิจกรรมการเกษตรเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง เมื่อเรือกสวนไร่นาเข้าที่แล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักถาวรขึ้น โดยเผาอิฐและกระเบื้องมุงหลังคาขึ้นเอง ประกอบกันกับไม้สักจากสัมปทานที่ทรงมีในภาคเหนือ เป็นเรือนหนึ่งชั้นครึ่งที่ออกแบบให้เหมาะแก่ภูมิอากาศร้อนชื้น ฝนตกชุก
 
หัตถกรรมชาวบ้านทรงต่อยอดพัฒนา
เมื่อทรงพระสำราญแล้ว ได้สนพระราชหฤทัยในหัตถกรรมพื้นถิ่นการทอเสื่อกก ทรงตั้งโรงทอเสื่อขึ้นและทรงศึกษาวิธีการจากช่างชาวบ้าน แล้วโปรดเกล้าฯ ให้หาวิธีย้อมสีให้สีไม่ตก นำผืนเสื่อที่ได้มาแปลงเป็นผลิตภัณฑ์สมัยใหม่ เช่น ที่รองจาน ถาด และกระเป๋าถือสตรี ซึ่งปรากฎว่าได้นำรายได้เข้ามาจุนเจือค่าใช้จ่ายในสวนบ้านแก้วได้มาก ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นหัตถกรรมที่ชาวบ้านไม่แต่ที่จังหวัดจันทบุรี ได้ทำเพื่อเป็นแหล่งรายได้เสริมสืบมา
 
เมื่อแรกเสด็จฯ ไปจันทบุรี มีดบาดพระดัชนี (นิ้วมือ) จึงเสด็จฯ ไปที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด และทรงพบว่าขาดแคลนทั้งสถานที่และอุปกรณ์เป็นอย่างมาก ต่อมา จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงละครสมัครเล่นขึ้นที่กรุงเทพฯ เพื่อหารายได้โดยเสด็จพระราชกุศล ในการสร้างตึกผ่าตัดพร้อมเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดในเวลานั้นพระราชทานโรงพยาบาล โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งชื่อว่า “ตึกประชาธิปก” ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระราชสวามี เป็นที่มาของ “ทุนประชาธิปก” ที่ทรงใช้ในการพระราชทานความสนับสนุนเท่าที่จำเป็นแก่โรงพยาบาลซึ่งใน พ.ศ.2499 รัฐบาลได้ขยายและเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลพระปกเกล้า” และวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า ซึ่งตั้งขึ้นตามมา
 
พระราชอุทิศแก่การศึกษา
ครั้นในปี พ.ศ. 2511 หลังจากที่ประทับอยู่ที่สวนบ้านแก้วเป็นหลักมาเป็นเวลาถึง 18 ปี สมเด็จฯ ได้เสด็จคืนมาประทับที่วังศุโขทัยในกรุงเทพฯ  เนื่องจาก “เศรษฐกิจบังคับใจ” และพระพลานามัยถดถอยลงตามกาลเวลา พระองค์ได้ทรงขายสวนบ้านแก้วแก่กระทรวงศึกษาธิการในราคาย่อมเยา เพื่อใช้สถานที่เป็นที่ตั้งของวิทยาลัยครูจันทบุรีที่เปิดขึ้นใหม่ตามแผนพัฒนาการศึกษาชาติซึ่งองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ หรือ UNESCO ให้การสนับสนุน พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักศึกษาจากทุน “ประชาธิปก” เช่นกัน วิทยาลัยครูนี้ได้พัฒนามาเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี ในปัจจุบัน
 
นอกจากนั้น เมื่อใน พ.ศ. 2523 จะมีการประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่หน้าอาคารรัฐสภาหลังเดิมที่ริมถนนอู่ทองใน สมเด็จฯ ได้พระราชทานฉลองพระองค์และสิ่งของส่วนพระองค์ขององค์ประชาธิปก ราว 700 ชิ้น แก่สำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ซึ่งได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่นั่น ซึ่งต่อมาได้โอนย้ายมาอยู่ในสังกัดของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ จัดแสดงในปัจจุบันอยู่ที่อาคารอนุรักษ์เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ จึงนับได้ว่าเป็นการที่สมเด็จฯ ได้ทรงสนับสนุนการศึกษาตามอัธยาศรัย
 
เมื่อในโอกาสเดียวกันนั้น สำนักงานเลขาธิการรัฐสภาได้นำเงินที่เหลือจากที่ใช้ในการก่อสร้างพระบรมราชานุสรณ์ และตั้งมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อสนับสนุนการศึกษาและการแพทย์การพยาบาล สมเด็จฯ ก็ได้ทรงบริจาคเงินสนับสนุนทุน
 
อานิสงส์การทรงกีฬากอล์ฟ
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โปรดทรงกีฬากอล์ฟมาตั้งแต่ครั้งประทับอยู่ที่ฝรั่งเศส ทรงเป็นสตรีไทยรุ่นแรกๆ ที่เล่นกอล์ฟ แม้ว่าที่สวนบ้านแก้วจะมีสนามกอล์ฟ 9 หลุม ส่วนพระองค์ที่จัดสร้างกันขึ้นมาเอง ไว้ให้ได้ทรงเพื่อทรงออกกำลังพระวรกายก็ตาม แต่พระราชนิยมนี้ไม่ได้เป็นที่ทราบกันแพร่หลาย จนกระทั่งเสด็จฯ กลับมาประทับที่กรุงเทพฯ และเสด็จฯ ไปทรงกอล์ฟตามสนามต่างๆ ปรากฎว่ามีนักกอล์ฟเข้ามาเฝ้าฯ และได้พร้อมใจกันจัดการแข่งขันกอล์ฟเพื่อหารายได้สมทบ “ทุนประชาธิปก” รับถ้วยรางวัลพระราชทาน  สมเด็จฯ จึงทรงเป็นที่กล่าวขวัญว่าทรงเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนการแข่งขันกีฬากอล์ฟทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่วนในประเทศนั้น เมื่อใดที่เสด็จฯ ไปทรงกอล์ฟตามต่างจังหวัด ก็จะทรงถือโอกาสเยี่ยมราษฎร พระราชทานเครื่องนุ่งห่มและสิ่งของจำเป็นต่อการดำรงชีพและอุปกรณ์ทางการศึกษาแก่เด็กนักเรียนไปด้วย ต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จดทะเบียน “ทุนประชาธิปก” เป็น “มูลนิธิประชาธิปก” ซึ่งเมื่อสมเด็จฯ เสด็จสวรรคตแล้ว ได้ผนวกพระนามไว้ในชื่อของมูลนิธิฯ เป็น “มูลนิธิประชาธิปก - รำไพพรรณี”
 
บั้นปลายพระชนมชีพ
สรุปได้ว่า  สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้ทรงเรียนรู้ตลอดพระชนมชีพและทรงพระปรีชาสามารถปรับพระองค์ได้ตามพระราชสถานะที่พลิกผันเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง เมื่อทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ได้ทรงวางพระองค์เป็นราชนารีศรีสยามแบบสากลเมื่อทรงโดยเสด็จพระราชดำเนินไปเจริญพระราชไมตรีในต่างประเทศมากหลายเป็นประวัติกาล ครั้นเมื่อพ้นรัชกาลที่ 7 ก็ยังทรงภักดีจงรักในพระราชสวามี  ทรงร่วมทุกข์ร่วมสุขในยามสงครามโลกครั้งที่สอง และเมื่อพระราชสวามีหาไม่แล้ว ยังได้ทรงเสี่ยงภยันตรายจากลูกระเบิดกลางเวหาไปทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อมนุษยชาติ สนับสนุนการแพทย์การพยาบาล เมื่อเสด็จฯ กลับประเทศไทยก็ได้ทรงส่งเสริมการเกษตร หัตถกรรมพื้นบ้าน การแพทย์การพยาบาลและการศึกษา 
 
และแล้วในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบนักษัตร ทรงพระประชวรเส้นพระโลหิตตีบตัน เป็นเหตุให้ทรงพระดำเนินได้ไม่สะดวก แม้ว่าจะยังทรงกีฬากอล์ฟอยู่โดยต่อเนื่องในวังที่ประทับ แต่ในท้ายที่สุดได้เสด็จสวรรคตลงด้วยพระหทัยวายเฉียบพลันเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2527 สิริพระชนมายุร่วม 80 พระชันษา  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 “ทรงเศร้าสลดพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง และทรงอาลัยระลึกถึงพระคุณูปการที่ทรงมีพระจริยวัตรตั้งอยู่ในสัจธรรมและขันติธรรมอย่างมั่นคง เป็นที่เคารพสักการะอย่างยิ่งของพระองค์”  มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง อย่างสมพระเกียรติยิ่งท่ามกลางความโศกเศร้าของบรรดาประชาชน เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2528