นิทรรศการหมุนเวียน

โครงการนิทรรศการหมุนเวียน “เครื่องต้นวังหลวง สู่ครัวนอกวัง”

 

หลักการและเหตุผล
 
อาหารชาววัง หรือ กับข้าวเจ้านาย ลักษณะพื้นฐานทั่วไปมีความใกล้เคียงกับอาหารของชาวบ้าน แต่มีศิลปะทั้งในแง่ของการเป็นทั้งอาหารปากและอาหารตา วัฒนธรรมของอาหารชาววังในช่วงตั้งแต่ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับแต่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชาพระราชสมภพ จนสิ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแปลงและผสมผสานระหว่างอาหารไทยกับอาหารตะวันตก เนื่องจากการติดต่อสัมพันธ์กับนานาประเทศ ซึ่งราชสำนักฝ่ายในมีบทบาทสำคัญในการรังสรรค์เอกลักษณ์วัฒนธรรมอาหาร นับตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้านายฝ่ายหญิงและบุตรหลานของข้าราชการชั้นสูงที่ถวายตัวเป็นข้าราชสำนักฝ่ายใน มีบทบาทสำคัญในการประดิษฐ์คิดค้นอาหารจนออกมาเป็นอาหารชาววัง เจ้านายฝ่ายในหลายพระองค์ทำหน้าที่กำกับดูแล ห้องพระเครื่องต้น อันเป็นสถานที่สำคัญในการประกอบพระกระยาหารสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์
 
เมื่อเจ้านายหลายพระองค์ขยับขยายออกไปประทับภายนอกพระบรมมหาราชวัง ได้นำทักษะที่ฝึกฝนมาจากวังหลวงมาสร้างสรรค์ตำรับอาหารของตนเองขึ้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะวังตน สูตรอาหารชาววังจึงเริ่มแพร่ขยายไปตามวงขุนนางข้าราชการที่ใกล้ชิด จนเกิดเป็นอาหารชาววังแบบประยุกต์ที่หลากหลาย และคงความพิถีพิถันอย่างชาววัง ต่อมาในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้านายผู้หญิงได้ออกมาประกอบอาชีพค้าขายมากขึ้น โดยใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจากราชสำนัก อันเป็นความรู้ประดับกายกุลสตรีมาเป็นต้นทุนในการประกอบอาชีพ ตลอดจนแม่ครัวและลูกมือที่ถูกปลดเลื่อนออกมาจากวังต่างๆ บ้างยังคงประกอบอาหารตามตำรับชาววังในการหาเลี้ยงชีพสืบมา ทำให้ผู้คนนอกรั้ววังได้มีโอกาสลองลิ้มรสอาหารชาววัง
 
พิพิธภัณฑ์ฯ เห็นว่าเรื่องอาหารเป็นประเด็นที่ผู้คนทั่วไปให้ความสนใจอยู่เสมอ จึงนำเสนอเรื่องราวผ่านการจัดนิทรรศการหมุนเวียน “เครื่องต้นวังหลวง สู่ครัวนอกวัง” ด้วยสื่อ และจัดแสดงโบราณวัตถุที่สำคัญและทรงคุณค่า อันได้แก่ เมนูพระกายาหาร ชุดภาชนะเครื่องเสวย เช่น จาน ชาม ช้อน ส้อม มีด แก้ว เป็นต้น แบบร่างพวงมาลาพระราชทาน พระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา เพื่อเสนอองค์ความรู้ และเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับเครื่องต้นวังหลวง เพื่อเติมเต็มความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องราว พระกระยาหารในตลอดช่วงพระชนม์ชีพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าอยู่หัว รวมถึงสืบเนื่องจากอาหารในวังสู่อาหารสามัญชน 
 
วัตถุประสงค์
 
  1. เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมด้านอาหารชาววัง ในช่วงพระชนม์ชีพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2426 - 2484) และพัฒนาการอาหารชาววังสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน
 
 
สถานที่จัดแสดง
 
พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 
 
ระยะเวลาในการดำเนินงาน
 
การจัดแสดง (กรกฎาคม 2560 - พฤศจิกายน 2560) 5 เดือน
 
ข้อความเพิ่มเติม
 
สามารถเข้าชมได้ที่พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560
เวลา 09.00 - 16.00 น.